07 เม.ย. เทียบความแตกต่าง Startup และ SMEs ธุรกิจสองแบบนี้ต่างกันอย่างไร
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและกลางอย่าง Startup และ SMEs ล้วนมีบทบาทท่ามกลางธุรกิจยุคใหม่เป็นอย่างมาก เพราะในทุกปีมีบริษัทในประเภท SMEs และ startup เกิดใหม่อยู่เสมอ เป็นสัญญาณที่ว่าผู้คนสนใจอยากจะเป็นเจ้าของกิจการกันมากขึ้น รวมถึงผู้คนมีไอเดียแปลกใหม่กับเทคโนโลยีทรงอิทธิพลมานำเสนอสู่สังคมไม่น้อย แต่ไม่ว่าคุณกำลังจะเป็นเจ้าของกิจการ startup หรือ SMEs สิ่งที่ควรมีที่สุดคือ คุณสมบัติของการเป็นเจ้าของกิจการที่ดี เพราะสิ่งนี้ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะพาให้ธุรกิจเกิดใหม่เดินทางไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นคง
ธุรกิจ Start Up คืออะไร ?
ธุรกิจ Startup คือธุรกิจหรือกิจการที่เริ่มต้นมาจากจุดเล็ก ๆ มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สามารถรองรับการเติบโต (Growth) ได้อย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด อาศัยปัจจัย 2 สิ่งที่สำคัญมากได้แก่ สินค้าหรือบริการจะต้องสามารถทำซ้ำได้ (Repeatable) และโครงสร้างบริษัทจะต้องถูกออกแบบมาพร้อมการเติบโตและขยับขยายได้ง่าย (Scalable) ซึ่งทั้งคู่ก็นับว่าเป็นหัวใจหลักในการบริหารธุรกิจ startup เลยทีเดียว
ที่สำคัญ startup มักเป็นธุรกิจที่เน้นการดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือนวัตกรรมทันสมัยเข้ามาใช้ร่วมกับการสินค้าและบริการ เพื่อให้การบริการหรือขั้นตอนผลิตสินค้าสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ลักษณะของ startup จึงมีความโดดเด่นด้านไอเดียและแนวทางของผู้ก่อตั้งที่แน่ชัด ยกตัวอย่างบริษัท startup ที่มีอิทธิพลในปัจจุบัน เช่น Facebook, Grab Food, Fast work และ Wongnai
นอกจากนี้ ธุรกิจ startup มักเป็นธุรกิจที่มีการร่วมทุนจากนักลงทุน สามารถมีเจ้าของมากกว่าหนึ่งคนได้ และเนื่องจากเงินลงทุนที่ได้จากหลายช่องทาง จึงทำให้ธุรกิจ startup มีสภาพคล่องทางการเงินสูง แต่ในแง่การบริหาร มักขึ้นอยู่กับโครงสร้างองค์กรและต้องผ่านความเห็นจากนักลงทุนทุกคนเสียก่อน อิสระในการตัดสินใจจึงไม่สามารถขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่งได้
ธุรกิจ SME คืออะไร ?
ธุรกิจ SMEs มีชื่อเต็มว่า “Small and Medium Enterprises” ซึ่งสามารถหมายถึงธุรกิจขนาดย่อม (พนักงานไม่เกิน 50 คน มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาท) ไปจนถึง ธุรกิจขนาดกลาง (พนักงาน 50 – 200 คน มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 200 ล้านบาท) ส่วนใหญ่มักมีเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว พึ่งพาเงินทุนโดยเจ้าของกิจการเป็นหลัก หรือเข้าใจง่าย ๆ ว่า เจ้าของหรือผู้ก่อตั้งเป็นคนลงทุนด้วยเงินตัวเอง อาจมีการกู้ยืมสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นแหล่งเงินลงทุนเพิ่มได้ขึ้นอยู่กับผู้เป็นเจ้าของกิจการ
ธุรกิจ SMEs ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบธุรกิจด้านการผลิตและบริการ เช่น ร้านค้า ร้านขายของ ธุรกิจอสังหาฯ เจ้าของที่พัก หรือบริษัทสินค้า OTOP ในแง่ของเงินทุน ธุรกิจ SMEs จึงมีสภาพคล่องทางการเงินที่น้อยกว่าธุรกิจ startup เพราะข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุนที่มาจากตัวเจ้าของเองหรือสินเชื่อกู้ยืม แต่จะมีความคล่องตัวในการบริหารเนื่องจากขึ้นตรงกับเจ้าของกิจการเป็นหลัก
ข้อดีและข้อเสียของธุรกิจ Start Up
ข้อดี : ธุรกิจ startup สามารถมีเงินลงทุนจากหลายช่องทาง เจ้าของกิจการไม่จำเป็นต้องเสี่ยงลงทุนด้วยเงินของตัวเองทั้งหมด เพราะมีเหล่านักลงทุนคอยให้การสนับสนุนไอเดียและกิจการอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจในวงโคจรที่เกื้อหนุนกันและกัน รวมถึงมีแรงสนับสนุนจากทั้งอุตสาหกรรมในเครือและภาครัฐ จึงทำให้มีแนวโน้มจะเติบโตได้ไวและง่ายกว่า
ข้อเสีย : เนื่องจาก startup เป็นธุรกิจที่คิดค้นไอเดียขึ้นใหม่ เสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่สังคม จึงมีความเสี่ยงที่ธุรกิจอาจไม่ประสบความสำเร็จได้ อาจไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค การตลาดในช่วงแรกจะเผชิญกับความยากลำบาก และหากไม่สำเร็จก็เท่ากับว่าจะกลายเป็นธุรกิจที่ไม่มีมูลค่า ขายทอดตลาดไม่ได้ มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงทีเดียว
ข้อดีและข้อเสียของธุรกิจ SMEs
ข้อดี : ธุรกิจ SMEs มักมีโครงสร้างองค์กรที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรนัก มีการตัดสินใจที่สะดวกและคล่องตัวสูง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลหลายฝ่าย จึงทำให้เมื่อเกิดปัญหา SMEs จะสามารถปรับปรุงหรือปรับตัวให้เข้ากับตลาดได้ง่ายและว่องไวกว่า รวมถึงยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐเหมือนกัน
ข้อเสีย : ธุรกิจ SMEs จะมีสภาพการเงินที่คล่องตัวน้อยกว่า startup เพราะอาจมีแหล่งเงินทุนที่มาเพียง 1 – 2 แหล่งเท่านั้น เสี่ยงที่จะเจอปัญหาเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอจนขาดสมดุลการเงินได้ ที่สำคัญ SMEs อาจพบเจอกรณีเรียกเก็บภาษีแบบเหมาจ่าย หากยื่นรายการบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง
เทียบความแตกต่างระหว่าง Start Up และ SMEs
ขนาดของธุรกิจ : ธุรกิจ startup มักมีที่มาจากธุรกิจขนาดเล็กก่อน แต่ด้วยโอกาสเติบโตที่รวดเร็วและก้าวกระโดด ธุรกิจ startup จึงสามารถขยายขนาดธุรกิจไปได้ไกล จากธุรกิจขนาดเล็กมาก ไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ขณะที่ธุรกิจ SMEs มักเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือกลางที่มีอัตราการเติบโตช้ากว่าเมื่อเทียบกับ startup ขนาดของธุรกิจจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายนัก
แนวคิดเริ่มต้น : ธุรกิจ startup มักเป็นธุรกิจที่มีแนวคิดและไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ อาจไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบธุรกิจนี้มาก่อน เพื่อนำเสนอสินค้าบริการใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค มักมีแนวคิดที่สร้างมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงบนท้องตลาด ขณะที่ธุรกิจ SMEs มักเป็นรูปแบบธุรกิจในประเภทที่มีมาอยู่แล้ว เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคอยู่ก่อนแล้ว เน้นสร้างรายได้จากการขายหรือให้บริการเป็นหลัก
แหล่งเงินลงทุน : ธุรกิจ startup เป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้จะมีผู้ก่อตั้ง (Founder) แต่ไม่จำเป็นที่ผู้ก่อตั้งจะลงเงินทุนด้วยตัวเองเสมอไป เพราะผู้เป็นเจ้าของสามารถเสนอไอเดียและแนวคิดธุรกิจอันโดดเด่น เพื่อเปิดรับเงินลงทุนจากเหล่านักธุรกิจที่สนใจและอยากลงทุนในโมเดลธุรกิจนั้น ๆ แหล่งเงินลงทุนหลักในธุรกิจ startup จึงมักมาจากนักลงทุนที่ร่วมหุ้น ส่วน ธุรกิจ SMEs มักจะมีแหล่งเงินทุนมาจากเงินลงทุนโดยเจ้าของธุรกิจเอง ซึ่งมักจะมาจากเงินเก็บของผู้ก่อตั้งเองและเมื่อธุรกิจดำเนินไปได้สักระยะ ผู้เป็นเจ้าของก็สามารถทำการกู้สินเชื่อจากธนาคารมาเป็นแหล่งเงินทุนเสริมได้
เทคโนโลยี : ธุรกิจ startup เป็นรูปแบบกิจการที่เน้นหยิบจับเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างสูงสุด โดยที่ “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ถือเป็นตัวแปรหลักในธุรกิจ startup ที่ช่วยต่อยอดสิ่งเก่าและนำเสนอสิ่งใหม่ ซึ่งมีผลต่อเส้นทางประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้นได้ ขณะที่ธุรกิจ SME ไม่ได้มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีมาร่วมเป็นตัวแปรทำธุรกิจเสมอไป อาจนำมาใช้หรือไม่ก็ได้ แต่จะมุ่งเน้นไปที่สินค้าและบริการที่มีอยู่แล้ว ตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่แล้ว มักเน้นการทำธุรกิจให้มั่นคงไปเรื่อย ๆ
ผลตอบแทน : ธุรกิจ startup เน้นให้มูลค่ากับผลตอบแทนในแง่การเติบโตของกิจการและประโยชน์ที่สังคมหรือผู้บริโภคได้รับเป็นหลัก แต่ผลกำไรก็นับเป็นผลตอบแทนที่มีผลต่อการลงทุนถัด ๆ ไป ส่วนธุรกิจ SMEs จะให้มูลค่าไปที่ผลตอบแทนในแง่ “รายได้และผลกำไร” เท่านั้น เพราะสองสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนให้กิจการเติบโตไปได้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งธุรกิจ Startup และ SMEs ล้วนมีความโดดเด่น และแนวทางที่ต่างกัน หากคุณมีไอเดียแจ่มว้าวพร้อมสอดรับความต้องการผู้คนยุคใหม่ startup ก็สามารถเติมเต็มอุดมการณ์และสานฝันให้ธุรกิจเติบโตไปได้ไกล แต่หากคุณมีธุรกิจเดิม ๆ อยู่แล้วที่อาจนำมารีเมคใหม่ เน้นรายได้และความมั่นคง ก็สามารถเป็น SMEs ที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะท้ายที่สุดความเป็นผู้นำ ทักษะการบริหาร และการเป็นเจ้าของกิจการที่ดี ก็จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจทั้ง 2 ประเภทนี้มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จได้อีกทางหนึ่ง